587 เข้าชม

ขายฝากอย่างสร้างสรรค์ การขายฝากจะไม่ใช่ผู้ร้ายที่จ้องจะมายึดทรัพย์สินของเราในราคาถูกๆอีกต่อไป

วัตถุประสงค์ของการขายฝาก มีความคล้ายกับวัตถุประสงค์ของการนำของไปจำนำที่โรงรับจำนำ แตกต่างกันในแง่ของตัวทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน หลักทรัพย์ที่นำมาใช้เป็นหลักประกันในการขายฝาก จะเป็นอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก ในขณะที่หลักทรัพย์ที่นำมาจำนำจะเป็นสังหาริมทรัพย์ทั่วไป ส่วนในแง่ราคารับจำนำ นอกจากทองรูปพรรณที่จะได้มูลค่ารับจำนำสูงที่สุดราว 70 - 80% ของราคาตลาด ณ ขณะนั้น หลักทรัพย์อื่นๆที่นำไปจำนำที่โรงรับจำนำ ก็มักจะได้มูลค่าน้อยกว่า 50% ของมูลราคาที่ท่านซื้อมา

ในขณะที่การขายฝากในปัจจุบันผู้ซื้อก็มักจะรับซื้อฝากที่ราคาต่ำกว่า 50% ของราคาตลาด เพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่ผู้ขายไม่สามารถมาไถ่ถอนได้ มีความแตกต่างที่มีนัยยะสำคัญอย่างยิ่งระหว่างการขายฝากและการจำนำ ซึ่งทำให้ผู้ขายฝากมักจะไม่สามารถมาไถ่ถอนการขายฝากได้ ตรงอายุสัญญาการขายฝาก และสิทธิในการขอต่อการขายฝาก

เวลาท่านไปใช้บริการโรงรับจำนำท่าน สามารถไปต่อดอกเบี้ยภายในรอบระยะเวลาที่โรงรับจำนำกำหนด เช่นทุกๆ 6 เดือน เมื่อท่านไปจ่ายดอกเบี้ยคงค้างเรียบร้อย สิทธิในตั๋วจำนำของท่านก็จะได้ต่ออายุออกไปอีก 6 เดือน ถึงแม้ว่าท่านจะจำนำหลักทรัพย์ของท่านไว้ในราคาแค่ 20% ของมูลราคาที่ท่านซื้อมา ท่านเพียงจ่ายดอกเบี้ยซึ่งจะเป็นจำนวนเงินไม่มาก (ยังไม่ต้องจ่ายเงินต้น) ท่านก็ยังสามารถรักษาสิทธิความเป็นเจ้าของหลักทรัพย์ของท่านไว้ได้ เพียงแต่ฝากหลักทรัพย์ดังกล่าวไว้เพื่อเป็นหลักประกันการกู้ยืมต่อไป

ในขณะที่การขายฝาก เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าของที่จำนำมาก แต่กลับถูกบังคับโดยธรรมเนียมปฏิบัติให้ทำสัญญาขายฝากในระยะเวลาสั้นๆ(ปัจจุบันดีขึ้นบ้าง สัญญาขายฝากขั้นต่ำต้องทำกันที่หนึ่งปี) และไม่ให้สิทธิ์การต่อสัญญาขายฝากแบบอัตโนมัติเหมือนโรงรับจำนำ ถ้าท่านเจอนายทุนที่อนุญาตให้ต่อสัญญาขายฝากได้ ท่านก็ชำระแค่ค่าสินไถ่(เสมือนดอกเบี้ย) เพื่อต่ออายุสัญญาขายฝากออกไปอีก 1 ปี

แต่ถ้านายทุนไม่อนุญาตให้ต่อสัญญา เช่นอาจจะแจ้งกับท่านว่าต้องการนำเงินไปลงทุนอย่างอื่น ท่านก็จะอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องหาเงินต้นมาไถ่ถอนคืน ในกรณีที่ท่านไม่สามารถหาเงินมาไถ่ถอนคืนได้ ท่านคงต้องเลือกระหว่างการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวออกไปให้บุคคลอื่นจริง(ในกรณีที่สามารถหาผู้ซื้อได้) หรือท่านอาจจะหาผู้รับจำนองหรือรับขายฝากคนใหม่ มายืดอายุความเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวต่อไป

แต่วิธีนี้ท่านจะมีค่าใช้จ่ายส่วนค่าธรรมเนียมและ ภาษีเงินได้ ที่ต้องจ่ายให้รัฐอีกรอบ และอาจมีค่านายหน้า ซึ่งรวมกันแล้ว ค่าใช้จ่ายจะค่อนข้างสูง เสมือนจะมาซ้ำเติมจนทำให้ท่านไม่สามารถไถ่ถอนหลักทรัพย์ได้ในที่สุด และถ้าถึงทางตันจริงๆ ท่านก็อาจจะเสียหลักทรัพย์ที่ขายฝากดังกล่าวไป ซึ่งที่ผ่านมา มีความเป็นไปได้มากที่ผู้ขายฝากจะไม่สามารถไถ่ถอนหลักทรัพย์กลับมาได้จริง เราถึงพบเห็นภาพนายทุนที่รับขายฝาก มีโฉนดในกำมือจำนวนมากมาตลอด

เรากลับมาที่ข้อเท็จจริงว่าการกู้ยืมเงินขอสินเชื่อ โดยใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน ด้วยวิธีการจำนองของสถาบันการเงินในระบบ ทั้งหมดจะเป็นการกู้ยืมระยะยาวแทบทั้งสิ้น ตั้งแต่ 5 - 30 ปี เนื่องจากหลักทรัพย์จะมีมูลค่ามากกว่ารายได้ประจำปีของแต่ละบุคคลค่อนข้างมาก จึงเป็นไปได้ยากที่ผู้ขอสินเชื่อจะชำระคืนเงินต้นทั้งจำนวนได้หมดในระยะเวลาอันสั้น

SABB มุ่งแก้ปัญหาตรงจุด เพื่อให้วัตถุประสงค์ของการขายฝาก ที่ถูกออกแบบมาเป็นเครื่องมือการค้ำประกันการกู้ยืมแบบหนึ่ง ควรจะต้องปรับเปลี่ยนธรรมเนียมปฎิบัติที่ใช้มาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งขัดแย้งกับความเป็นไปได้ของการขายฝากเพื่อซื้อกลับคืน ของผู้ที่กำลังประสบปัญหาทางการเงินด้วยหลักการสำคั ญ 4 ประการได้แก่

1)ทำสัญญาประกอบการขายฝาก เพื่อทรงสิทธิการไถ่ถอนคืนรวม 5 ปี เพื่อให้เวลาแก่ผู้ขายฝากในการเลือกตัดสินใจได้หลายแนวทาง

2)ช่วยให้ผู้ขายมีส่วนกำหนดราคาขายฝากที่เป็นธรรมด้วยตัวเอง การที่ผู้ขายได้รับเงินขายฝากมากขึ้น เงินส่วนนี้ยังสามารถช่วยจ่ายผลตอบแทนเสมือนค่าเช่า ให้แก่ผู้ซื้อฝากในปีถัดไป และเป็นเงินทุนในการลงทุนหรือปรับเปลี่ยนกิจการเพื่อฟื้นคืนธุรกิจกลับมาให้ได้

3)กำหนดผลตอบแทนเสมือนค่าเช่าที่ผู้ขายฝากต้องรับภาระ = 6% ต่อปี + ด้วยค่าสินไถ่อีก 2% ต่อปี(ซึ่งจะชำระต่อเมื่อมีการไถ่ถอนเท่านั้น) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ใกล้เคียงกับการกู้เงินในระบบ จะเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ขายฝาก ทำให้ผู้ขายฝากมีโอกาสในการไถ่ถอนได้ง่ายขึ้น

4)ทำความเข้าใจและสร้างนักลงทุนซื้อฝากแบบสร้างสรรค์กลุ่มใหม่ ที่เข้าใจในการลงทุนแบบpassive income โดยใช้P2P แพลตฟอร์มเพื่อลดต้นทุนการลงทุน โดยมีเครื่องมือการขายฝาก ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำและมีผลตอบแทนสุทธิค่อนข้างสูง และไม่มีภาระค่าใช้จ่ายแฝงเมื่อเทียบกับการลงทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเช่าโดยตรงในทุกรูปแบบ รวมทั้งเข้าใจรูปแบบการลงทุนโดยใช้เครื่องมือการขายฝาก เพื่อผลตอบแทนที่ดี ไม่ใช่เพื่อครอบครอง โดยตัองเข้าใจฐานะทางการเงินของผู้ขายฝาก ซึ่งเสมือนเป็นคู่ค้า(partner) ที่ทำธุรกิจไปด้วยกัน

SABB ตะหนักดีว่าหลักการทั้ง 4 ประการนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมปฏิบัติของวงการขายฝาก อย่างไรก็ตามทีมงาน SABB มีความจริงใจที่จะประสานผลประโยชน์ของผู้ซื้อและผู้ขายไปด้วยกัน เรามีความเป็นมืออาชีพในการประเมินราคา เรามุ่งเน้นให้ผู้ซื้ออยู่ในละแวกเดียวกับผู้ขายหรือมีความคุ้นเคยชื่นชอบอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่ผู้ขายประกาศขาย เพื่อให้ผู้ซื้อยินดีรับซื้อฝากในราคาที่สูงขึ้น SABB ยังมีพันธมิตรการสื่อสารออนไลน์เพื่อเชื่อมการเข้าถึงข้อมูลของผู้ซื้อและผู้ขายได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้แพลตฟอร์มการลงทุนแบบP2Pของ SABB สามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคมในสภาวะวิกฤตนี้ได้อีกหนึ่งทาง